โลกการลงทุน

จัดทำบทความโดย นาย วิษณุ พันนุรักษ์
4903100224


โลกการลงทุน

เวลาพูดถึงการลงทุน ผู้ลงทุนจะพูดถึงการลงทุนที่ใกล้ตัว ศัพท์การลงทุนเรียกว่า “ตลาดในประเทศ” หรือ Domestic Markets และการลงทุนที่ไกลตัวออกไป ซึ่งมักจะเรียกว่า ตลาดต่างประเทศ หรือ International Markets โดยประเทศของใครก็แตกต่างไปตามประเทศนั้นๆ

เมื่อการสื่อสารและการโอนเงินข้ามพรมแดนเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น โลกของการลงทุนทุกวันนี้ จึงเปิดกว้างมากขึ้น ไม่เว้นแม้ผู้ลงทุนชาวไทย ที่จะออกไปลงทุนในต่างประเทศ ดิฉันยังจำได้ดีถึงที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เมื่อปี 2536 คราวที่จัดสัมมนาเรื่องเศรษฐกิจและภาวการณ์ลงทุนของโลก โดยเชิญวิทยากรมาจากต่างประเทศว่า อยากให้ทางการเปิดให้ไปลงทุนต่างประเทศบ้าง

พอลงหนังสือพิมพ์ไป วันถัดมา หนังสือพิมพ์ธุรกิจพาดหัวเลยว่า ก.ล.ต.เบรก ผู้จัดการกองทุนที่อยากไปลงทุนในต่างประเทศ เพราะไทยยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง จากนั้นปี 2538 สมาชิกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ ขออนุมัติจาก ก.ล.ต.นำเงินไปลงทุน เพื่อเรียนรู้การดำเนินงานของตลาดซื้อขายล่วงหน้า หรือฟิวเจอร์ส 20 ล้านดอลลาร์ โดยมีเงื่อนไขว่า สามารถส่งบุคลากรของบริษัท ที่นำเงินมาร่วมลงทุนไปฝึกงานกับเทรดเดอร์ นับเป็นการอนุมัติให้นำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศในลักษณะ Portfolio Investment ที่มีการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง หรือ Risky Assets อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก แตกต่างจากการลงทุนในลักษณะบริหารสภาพคล่องของสถาบันการเงิน และการบริหารเงินทุนสำรองของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

การเปิดให้ประชาชนทั่วไปลงทุนในต่างประเทศได้อย่างเป็นทางการ เริ่มหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ คือ ปี 2545 เมื่อสถานะของดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศดีขึ้น ธปท.จึงผ่อนคลายเกณฑ์การนำเงินตราออกไปนอกประเทศ และให้โควตาแก่ สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.ในการจัดสรรเงินให้ บลจ. ยื่นเสนอการจัดตั้งกองทุน ซึ่งในรอบแรก ต้องเป็นกองทุนที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยได้รับคัดเลือก 5 กองทุน

ต่อมาขยายโควตาการลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงมีกองทุนเกิดขึ้นมากมาย ทั้งกองทุนหุ้นทุน กองทุนผสม กองทุนตราสารหนี้ และเสนอขายกองทุนที่ลงทุนเฉพาะเจาะจงในภูมิภาคต่างๆ หรือในลักษณะแนวคิด เช่น ลงทุนหุ้นบริษัทที่ผลิตสินค้าหรูหรา หุ้นเทคโนโลยี หุ้นพลังงานทางเลือก ฯลฯ ล่าสุด ธปท.ประกาศเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ให้โควตาแก่ ก.ล.ต.เพื่อขยายวงเงินที่จัดสรรให้ บลจ. ต่างๆ เพิ่มจาก 30,000 เป็น 50,000 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ ท่านที่สนใจลงทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ สามารถนำเงินไปลงทุนได้สูงสุดถึง 10 ล้านดอลลาร์ต่อปี จากปัจจุบันลงทุนได้ 5 ล้านดอลลาร์ต่อราย ซึ่งต้องรอประกาศจากกระทรวงการคลังก่อน จึงขยายวงเงินได้ ซึ่งอสังหาริมทรัพย์เมืองใหญ่ๆ ที่น่าสนใจ เช่น ลอนดอน เป็นที่สนใจลงทุนของผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยแถบเอเชียนี้ คนฮ่องกงจะนิยมเป็นพิเศษ มีการลงโฆษณาขายอพาร์ตเมนต์ หรือบ้าน กันอยู่เป็นประจำ ถ้าเอาให้เช่า ผลตอบแทนจากการเช่าก็จัดว่าดีพอสมควร เข้าใจว่า 4-5% ต่อปี ราคาอสังหาริมทรัพย์ในทำเลที่ตั้งดีๆ ไม่ค่อยจะปรับตัวลดลง

ท่านที่ต้องการฝากเงินเป็นสกุลต่างประเทศเอาไว้ เผื่อให้ลูกหลานเรียนหนังสือ ก็สามารถฝากได้ถึง 100,000 ดอลลาร์ หากเป็นบุคคลธรรมดา และ 300,000 ดอลลาร์หากเป็นนิติบุคคล

เครือธนาคารกสิกรไทยยังมองค่าเงินบาท ณ สิ้นปีที่ 31.50 บาทต่อดอลลาร์ คือยังมองเงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่าปัจจุบันอีก ดังนั้น ท่านต้องดูจังหวะการแลกเงินไปลงทุนด้วย

การลงทุนในต่างประเทศเป็นการลดความเสี่ยงการลงทุนอย่างหนึ่ง ด้วยการกระจายการลงทุน โดยการขึ้นลงของราคาสินทรัพย์ต่างประเภทกันจะขึ้นลงไปเท่ากัน และแม้เป็นประเภทเดียวกัน แต่อยู่ต่างประเทศกัน ก็ขึ้นลงไม่เท่ากัน การลงทุนในลักษณะกระจายความเสี่ยง จึงกระจายได้ทั้งตามประเภทของสินทรัพย์ (Asset Class) และตามภูมิภาคที่ลงทุน (Geographical location)



ที่มา : http://www.nidambe11.net

คำถาม
1. การลงทุนใกล้ตัว และการลงทุนไกลตัว มีศัพท์การลงทุนที่เรียกกันว่าอะไร
2. การเปิดให้ประชาชนทั่วไปลงทุนในต่างประเทศได้อย่างเป็นทางการ เริ่มหลังจากเมื่อใด
3. การลงทุนในต่างประเทศเป็นการลดความเสี่ยงการลงทุนอย่างหนึ่ง ในบทความ ได้กล่าวไว้ว่าเพราะอะไร

1 ความคิดเห็น:

  1. ข้อ 1
    การลงทุนที่ใกล้ตัว ศัพท์การลงทุนเรียกว่า “ตลาดในประเทศ” หรือ Domestic Markets และการลงทุนที่ไกลตัวออกไป จะเรียกว่า ตลาดต่างประเทศ หรือ International Markets
    ข้อ 2
    เริ่มหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ คือ ปี 2545 เมื่อสถานะของดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศดีขึ้น
    ข้อ 3
    เป็นการลดความเสี่ยงด้วยการกระจายการลงทุน โดยการขึ้นลงของราคาสินทรัพย์ต่างประเภทกันจะขึ้นลงไปไม่เท่ากัน และแม้เป็นประเภทเดียวกัน แต่อยู่ต่างประเทศกัน ก็ขึ้นลงไม่เท่ากัน การลงทุนในลักษณะกระจายความเสี่ยง จึงกระจายได้ทั้งตามประเภทของสินทรัพย์ (Asset Class) และตามภูมิภาคที่ลงทุน (Geographical location)

    น.ส.รัชนก ทุมพัฒน์
    5003100068

    ตอบลบ