โลกการลงทุน

จัดทำบทความโดย นาย วิษณุ พันนุรักษ์
4903100224


โลกการลงทุน

เวลาพูดถึงการลงทุน ผู้ลงทุนจะพูดถึงการลงทุนที่ใกล้ตัว ศัพท์การลงทุนเรียกว่า “ตลาดในประเทศ” หรือ Domestic Markets และการลงทุนที่ไกลตัวออกไป ซึ่งมักจะเรียกว่า ตลาดต่างประเทศ หรือ International Markets โดยประเทศของใครก็แตกต่างไปตามประเทศนั้นๆ

เมื่อการสื่อสารและการโอนเงินข้ามพรมแดนเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น โลกของการลงทุนทุกวันนี้ จึงเปิดกว้างมากขึ้น ไม่เว้นแม้ผู้ลงทุนชาวไทย ที่จะออกไปลงทุนในต่างประเทศ ดิฉันยังจำได้ดีถึงที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เมื่อปี 2536 คราวที่จัดสัมมนาเรื่องเศรษฐกิจและภาวการณ์ลงทุนของโลก โดยเชิญวิทยากรมาจากต่างประเทศว่า อยากให้ทางการเปิดให้ไปลงทุนต่างประเทศบ้าง

พอลงหนังสือพิมพ์ไป วันถัดมา หนังสือพิมพ์ธุรกิจพาดหัวเลยว่า ก.ล.ต.เบรก ผู้จัดการกองทุนที่อยากไปลงทุนในต่างประเทศ เพราะไทยยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง จากนั้นปี 2538 สมาชิกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ ขออนุมัติจาก ก.ล.ต.นำเงินไปลงทุน เพื่อเรียนรู้การดำเนินงานของตลาดซื้อขายล่วงหน้า หรือฟิวเจอร์ส 20 ล้านดอลลาร์ โดยมีเงื่อนไขว่า สามารถส่งบุคลากรของบริษัท ที่นำเงินมาร่วมลงทุนไปฝึกงานกับเทรดเดอร์ นับเป็นการอนุมัติให้นำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศในลักษณะ Portfolio Investment ที่มีการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง หรือ Risky Assets อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก แตกต่างจากการลงทุนในลักษณะบริหารสภาพคล่องของสถาบันการเงิน และการบริหารเงินทุนสำรองของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

การเปิดให้ประชาชนทั่วไปลงทุนในต่างประเทศได้อย่างเป็นทางการ เริ่มหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ คือ ปี 2545 เมื่อสถานะของดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศดีขึ้น ธปท.จึงผ่อนคลายเกณฑ์การนำเงินตราออกไปนอกประเทศ และให้โควตาแก่ สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.ในการจัดสรรเงินให้ บลจ. ยื่นเสนอการจัดตั้งกองทุน ซึ่งในรอบแรก ต้องเป็นกองทุนที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยได้รับคัดเลือก 5 กองทุน

ต่อมาขยายโควตาการลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงมีกองทุนเกิดขึ้นมากมาย ทั้งกองทุนหุ้นทุน กองทุนผสม กองทุนตราสารหนี้ และเสนอขายกองทุนที่ลงทุนเฉพาะเจาะจงในภูมิภาคต่างๆ หรือในลักษณะแนวคิด เช่น ลงทุนหุ้นบริษัทที่ผลิตสินค้าหรูหรา หุ้นเทคโนโลยี หุ้นพลังงานทางเลือก ฯลฯ ล่าสุด ธปท.ประกาศเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ให้โควตาแก่ ก.ล.ต.เพื่อขยายวงเงินที่จัดสรรให้ บลจ. ต่างๆ เพิ่มจาก 30,000 เป็น 50,000 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ ท่านที่สนใจลงทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ สามารถนำเงินไปลงทุนได้สูงสุดถึง 10 ล้านดอลลาร์ต่อปี จากปัจจุบันลงทุนได้ 5 ล้านดอลลาร์ต่อราย ซึ่งต้องรอประกาศจากกระทรวงการคลังก่อน จึงขยายวงเงินได้ ซึ่งอสังหาริมทรัพย์เมืองใหญ่ๆ ที่น่าสนใจ เช่น ลอนดอน เป็นที่สนใจลงทุนของผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยแถบเอเชียนี้ คนฮ่องกงจะนิยมเป็นพิเศษ มีการลงโฆษณาขายอพาร์ตเมนต์ หรือบ้าน กันอยู่เป็นประจำ ถ้าเอาให้เช่า ผลตอบแทนจากการเช่าก็จัดว่าดีพอสมควร เข้าใจว่า 4-5% ต่อปี ราคาอสังหาริมทรัพย์ในทำเลที่ตั้งดีๆ ไม่ค่อยจะปรับตัวลดลง

ท่านที่ต้องการฝากเงินเป็นสกุลต่างประเทศเอาไว้ เผื่อให้ลูกหลานเรียนหนังสือ ก็สามารถฝากได้ถึง 100,000 ดอลลาร์ หากเป็นบุคคลธรรมดา และ 300,000 ดอลลาร์หากเป็นนิติบุคคล

เครือธนาคารกสิกรไทยยังมองค่าเงินบาท ณ สิ้นปีที่ 31.50 บาทต่อดอลลาร์ คือยังมองเงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่าปัจจุบันอีก ดังนั้น ท่านต้องดูจังหวะการแลกเงินไปลงทุนด้วย

การลงทุนในต่างประเทศเป็นการลดความเสี่ยงการลงทุนอย่างหนึ่ง ด้วยการกระจายการลงทุน โดยการขึ้นลงของราคาสินทรัพย์ต่างประเภทกันจะขึ้นลงไปเท่ากัน และแม้เป็นประเภทเดียวกัน แต่อยู่ต่างประเทศกัน ก็ขึ้นลงไม่เท่ากัน การลงทุนในลักษณะกระจายความเสี่ยง จึงกระจายได้ทั้งตามประเภทของสินทรัพย์ (Asset Class) และตามภูมิภาคที่ลงทุน (Geographical location)



ที่มา : http://www.nidambe11.net

คำถาม
1. การลงทุนใกล้ตัว และการลงทุนไกลตัว มีศัพท์การลงทุนที่เรียกกันว่าอะไร
2. การเปิดให้ประชาชนทั่วไปลงทุนในต่างประเทศได้อย่างเป็นทางการ เริ่มหลังจากเมื่อใด
3. การลงทุนในต่างประเทศเป็นการลดความเสี่ยงการลงทุนอย่างหนึ่ง ในบทความ ได้กล่าวไว้ว่าเพราะอะไร

5 กับดักเศรษฐกิจ..พิษร้ายแรง

จัดทำบทความโดย นางสาวดุริยาภรณ์ จงอัจฉริยกุล
4903100003



5 กับดักเศรษฐกิจ..พิษร้ายแรง

ถ้าพูดถึง “กับดักเศรษฐกิจ” คือ ระบบที่ดูเหมือนจะดี แต่ที่จริงแล้วกลับไม่ใช่สิ่งที่ดี และสร้างความเสียหายได้อย่างมากมายตามมา อาจหยิบยกสถานการณ์เศรษฐกิจโลกปัจจุบันที่กำลังประสบอยู่เป็น 5 เรื่องดังต่อไปนี้

1. กับดักเงินหยวน คือ การที่ประเทศจีนได้กำหนดค่าเงินหยวนให้ผูกกับเงินดอลลาร์ ส่งผลให้สมดุลการค้าของโลกสูญเสียไป ประเทศจีนได้ดุลการค้ามากที่สุดในโลก ขณะที่อเมริกาก็ขาดดุลการค้าอย่างมหาศาลที่สุดในโลกเช่นกัน โดยที่ 2 ประเทศกลับผูกค่าเงินด้วยกันซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติมากๆ ระบบเงินหยวนนี้เคยสร้างปัญหามาแล้ว โดยได้เคยลดค่าถึง 33% และเป็นตัวจุดชนวนให้การส่งออกของไทยสูญเสียการแข่งขัน เมื่อรวมกับปัญหาเงินบาทและ BIBF จึงนำไปสู่ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ในที่สุด

วิธีปลดล็อก : จีนต้องมองให้กว้างออกไป ดำเนินนโยบายไม่ใช่เพื่อประเทศตนเอง แต่เป็นเพื่อโลก ในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ การยอมให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นไม่ต่ำกว่า 20% ภายในเวลา 1 ปี จะช่วยให้สมดุลการค้าของโลกคืนมาได้ สินค้าและสินทรัพย์ของอเมริกาจะมีมูลค่าถูกลงในสายตาคนเอเชียที่มีค่าเงินแข็งขึ้น ซึ่งจะช่วยประเทศอเมริกาได้เป็นอย่างดี ขณะที่คนจีนก็จะมีกำลังซื้อมากขึ้น ความเป็นอยู่ดีขึ้นจากค่าเงินที่แข็งค่า

2. กับดักเงินยูโร คือ การที่กำหนดค่าเงินสกุลเดียว แต่ผูกประเทศที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันอย่างมากให้อยู่ในยูโรโซนเดียวกัน เยอรมนีมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ได้ดุลการค้าอย่างมาก ในเวลาเดียวกันพบว่า ไอร์แลนด์ สเปนและกรีซ มีเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ขาดดุลการค้าอย่างหนัก โดยปกติแล้วค่าเงินจะสะท้อนสภาพเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ แต่ด้วยระบบเงินยูโร มันจึงเกิดขึ้นไม่ได้ จึงสร้างปัญหาอย่างมากต่อประเทศที่อ่อนแอ

วิธีปลดล็อก : จะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปใช้เงิน 2 สกุล โดยเยอรมนีและฝรั่งเศสที่แข็งแกร่งเป็นแกนกลางนั้น ควรจะเปลี่ยนมาใช้เงินสกุลใหม่ Eura แทน ส่วนประเทศที่อ่อนแอริมขอบยูโรโซน ก็ใช้เงิน Euro กันต่อไป ยอมให้ Euro อ่อนค่าลง เพื่อช่วยเหลือการส่งออก และการชำระหนี้สินของประเทศริมขอบยูโรโซน

3. กับดักสภาพคล่อง เรื่องนี้อยู่ในตำราอยู่แล้ว คือ การลดอัตราดอกเบี้ยลงมาต่ำมาก แต่เศรษฐกิจก็ยังไม่ฟื้นตัวอย่างแข็งแรง สิ่งนี้กำลังเกิดอยู่ในประเทศญี่ปุ่น อเมริกา และอังกฤษ

วิธีปลดล็อก : เคนส์แนะนำให้รัฐบาลทำงบประมาณขาดดุล เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

4. กับดักเคนส์ คือ สภาพที่ประเทศได้สร้างหนี้สาธารณะเพิ่มตลอดจากการใช้นโยบายการคลังขาดดุล โดยที่เศรษฐกิจไม่ได้มีการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน เศรษฐกิจซบเซาและมีภาวะเงินฝืด ญี่ปุ่นได้ติดกับดักนี้มา 18 ปีแล้ว ส่วนประเทศอเมริกา และยุโรป เริ่มติดกับดักนี้มาได้ราว 2 ปี

วิธีปลดล็อก : ใช้เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) มาเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยไม่เป็นภาระการคลังเลยแม้แต่น้อย แต่ใช้หลักการยืมพลังจากแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะกองทุนบำนาญแทน สำหรับประเทศญี่ปุ่นนั้น อาจใช้ “โครงการสินเชื่อ 777” หรือ “Lucky Seven Loan” ซึ่งมีแนวคิดคล้ายกัน “สินเชื่อ 999” โดยให้องค์กรที่บริหารเงินบำนาญ ทำการค้ำประกันสินเชื่อให้กับคนญี่ปุ่นไม่เกิน 7 ส่วนของเงินออมในอัตราดอกเบี้ย 7% ผ่อนได้ 7 ปี ส่วนของดอกเบี้ยนั้นบางส่วนจะถูกจัดสรรเข้าองค์กรบริหารเงินบำนาญ และรัฐบาลเป็นค่าธรรมเนียมค้ำประกันเงินกู้ด้วย ด้วยวิธีง่ายๆ เงินเศษเสี้ยวของกองทุนบำนาญเพียง 1% เมื่อถูกนำมาใช้จ่าย จะส่งผลให้ยกเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้ โดยรัฐบาลแทบไม่ต้องใส่เงินงบประมาณลงไปตรงๆ เลยแม้แต่น้อย

5. กับดักการออม คือ สภาพที่รัฐบาลสนับสนุนเอาเงินภาษีไปช่วยเพิ่มผลตอบแทนการออมให้กับคนระดับเศรษฐี ขณะเดียวกัน บังคับออมกับคนจนซึ่งทำให้พวกเขาติดหนี้สินกันมากทางอ้อม ซึ่งเป็นระบบที่ทำกันอยู่ในประเทศไทยตอนนี้ ด้วยระบบเช่นนี้ จะทำให้คนรวย ซึ่งมีค่าจ้างแรงงานสูง ได้รับผลตอบแทนการลงทุนสูงอีกด้วย ทำให้คนรวยนั้นรวยขึ้น ขณะที่ทำให้คนจนซึ่งมีค่าแรงต่ำ ยังถูกบังคับทางอ้อมไปติดหนี้ดอกเบี้ยโหด เพราะการถูกบังคับออมเงินทำให้เงินขาดมือ จึงมีผลตอบแทนส่วนทุนติดลบไปมาก สรุปแล้วคือทำให้คนจนนั้นจนลงไปอีก เห็นได้ชัดว่าระบบแบบนี้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมขยายกว้างขึ้น

วิธีปลดล็อก : ลดวงเงินการหักลดหย่อนภาษี RMF, LTF ลงมา เลิกอุ้มคนรวยได้แล้ว ขณะเดียวกันต้องให้มีการยืดหยุ่นเงินออมของประกันสังคม และ กบข. โดยให้ผู้ประกันตนและสมาชิก สามารถเข้าถึงเงินออมของตนเองได้ ตามแนวคิดของ “สินเชื่อ 999” รวมถึงหยุดแนวคิดจัดตั้ง กองทุนการออมแห่งชาติไปเสีย

หากผู้นำประเทศต่างๆ เห็นถึงกับดักเหล่านี้ และเดินหน้าปลดล็อกได้เร็ว โลกก็อาจรอดพ้นจากวิกฤติรอบ 2 ไปได้ แต่ผมคิดว่ามีโอกาสถึง 80% ที่โลกกำลังเดินหน้าสู่วิกฤติรอบ 2 เสียก่อนแล้วผู้นำของประเทศต่างๆ จึงจะตาสว่าง เห็นถึงข้อเสียของกับดักเศรษฐกิจในปัจจุบันแล้วตัดสินใจเดินหน้าปลดล็อกกับดักเหล่านั้น จึงจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจโลกได้ในที่สุด

ที่มา : http://www.nidambe11.net

คำถาม
1. ในบทความนี้ ได้ยกสถานการณ์เศรษฐกิจในโลกปัจจุบันมากี่เรื่อง
2. กับดักเงินยูโรคืออะไร และมีวิธีการปลดล็อกอย่างไร
3. ในบทความนี้คิดว่า มีโอกาสเท่าไหร่ที่โลกจะเผชิญกับวิกฤติรอบ 2