กับดักเงินยูโร

จัดทำบทควาโดย นายฐิติพงษ์ กิจวรเกียรติ
5003100123


ประวิทย์ เรืองศิริกูลชัย นักเศรษฐศาสตร์นอกกรอบ อดีตนักเรียนทุนญี่ปุ่น กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ถ้าคิดว่าผมจะเขียนเรื่อง “วิกฤติการคลังของยุโรป” นั้นก็อาจถูกเพียงครึ่งเดียว นั่นเป็นเรื่องปลายเหตุ EU ย่อมไม่สามารถแก้ไขปัญหาของกรีซ โปรตุเกส และสเปน ไปได้ หากมองไม่เห็นถึงต้นตอของปัญหาอย่างแท้จริง นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากได้มองข้ามปัญหาของระบบเงินยูโร

เงินยูโร เริ่มใช้วันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1999 คือ สกุลเงินที่ประเทศในเขตยูโรโซนปัจจุบันมี 16 ประเทศจากสมาชิก EU 27 ประเทศ ตัดสินใจนำใช้เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนร่วมกัน เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการค้าขายโดยไม่ต้องแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลต่างๆ ในเขตยูโรโซน และเพื่อช่วยให้อัตราดอกเบี้ย และเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ สกุลเงินนี้ครอบคลุมประชากรถึง 327 ล้านคนในยุโรป อีก 175 ล้านคนนอกเขตยุโรป นอกจากนี้ ยูโรโซนมีขนาดของเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา และหากรวมเศรษฐกิจทั้ง EU จะมีขนาดถึง 18 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งใหญ่กว่า สหรัฐอเมริกาเสียอีก อย่างไรก็ดี เมื่อใช้เงินสกุลนี้มาได้ราว 10 ปีเราเริ่มได้เห็นถึง “ด้านมืด” ของการใช้เงินสกุลเดียวได้เด่นชัดยิ่งขึ้น

เมื่อฟิทช์ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือของ “กรีซ” ลงสู่ระดับ BBB- จากระดับ A- เป็นการลดระดับความน่าเชื่อถือในรอบ 10 ปี และเป็นครั้งแรกของกรีซที่ถูกลดระดับลงต่ำกว่า A นอกจากนี้ S&P ยังให้มุมมอง “เชิงลบ” จาก “ทรงตัว” ต่อประเทศสเปนอีกด้วย หลังจากปรับลดเครดิตจาก AAA เป็น AA+ มาตั้งแต่ต้นปีเดือน มกราคม 2009

ทำไมประเทศที่ดูเหมือนแข็งแกร่งเหล่านี้จึงได้ประสบปัญหาในเรื่องของเครดิตได้ หากมองว่าเป็นเพราะ ขาดวินัยทางการคลัง นั่นก็คงเป็นที่ปลายเหตุ กรีซ ขาดดุลการคลัง 12.7% GDP ขณะที่สเปน ขาดดุลการคลังราว 11% GDP ซึ่งก็นับว่าอยู่ในระดับเดียวกันกับ อเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่น แล้วเหตุใดการลามของวิกฤติจึงไปที่สเปน โปรตุเกส แทนที่จะไปที่อิตาลี ซึ่งมีหนี้สินสาธารณะต่อ GDP สูงกว่า 100% ซึ่งเป็นระดับอันตรายเช่นเดียวกับ กรีซ

เมื่อมองย้อนหลังไปดูก็จะพบว่าวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศไม่ใหญ่นัก มักจะมีต้นเหตุหลักมาจาก “ระบบอัตราแลกเปลี่ยน” นั่นเอง โดยเฉพาะการปล่อยให้ค่าเงินมีค่าสูงกว่าที่ควรจะเป็นนานเกินไป ทำให้เกิดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงและต่อเนื่องหลายปี และ ในที่สุดความเชื่อมั่นก็ถดถอยจนเกิดการถอนเงินตราต่างประเทศออกอย่างเร็ว ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดกับประเทศเม็กซิโก ในปี ค.ศ.1994 ประเทศไทย (วิกฤติต้มยำกุ้ง) ในปี ค.ศ.1997 และ ประเทศอาร์เจนตินา ในปี 2002

ค่าเงินยูโรได้แข็งขึ้นอย่างเร็วจากระดับ 1 ยูโร ราว 0.8 ดอลลาร์ในปี ค.ศ.2002 เป็น 1.6 ดอลลาร์ ในปี 2008 ได้เพิ่ม GDP ของประเทศในกลุ่มนี้ให้สูงขึ้นอย่างมาก โดยประเทศกรีซ และ สเปน มี GDP ที่สูงขึ้นกว่า 150% คิดตามดอลลาร์ ในระยะเวลา 7 ปี จนถึงปี 2008 ซึ่งนับว่าเป็นระดับที่สูงมากๆ เมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกานั้นเติบโตขึ้นราว 40% เท่านั้นเอง อย่างไรก็ดี ค่าเงินที่แข็งค่าอย่างเร็วนี้ได้ทำให้ความสามารถแข่งขันในการส่งออก และท่องเที่ยวลดลงอย่างมาก ในขณะเดียวกันก็ประชาชนมีกำลังซื้อสูงขึ้นเกิดการนำเข้าสินค้าต่างๆ เข้ามามากมาย จนทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลอย่างหนักเป็นสัดส่วนถึงกว่า 10% GDP สำหรับประเทศกรีซ ตั้งแต่ปี 2006 มาแล้ว และ สำหรับประเทศสเปน ก็ขาดดุลมากกว่า 7% มานาน 4 ปีแล้วเช่นกันกลายเป็นประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา ตรงข้ามกับเยอรมันที่ได้ดุลเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีน และญี่ปุ่นในปี 2008

ประเทศริมขอบของเขตยูโร อย่าง กรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปนและอิตาลี (PIIGS) ต่างก็ต้องประสบกับปัญหาการที่ต้องพยายามประคองเศรษฐกิจให้ได้ ภายใต้สภาวะที่ค่าเงินยูโรแข็งค่า แข่งขันอย่างไรก็แพ้ กลายเป็น “หมู” สำหรับประเทศเยอรมันอยู่ดี ประเทศเหล่านี้ได้ติด “กับดักเงินยูโร” เข้าแล้วด้วยความมุ่งหวังให้ต้นทุนการเงินหรืออัตราดอกเบี้ยต่ำลง จึงโดดสู่ระบบเงินยูโร แต่ต้องประสบกับปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างสูงกว่า 10% สำหรับกรีซ บางประเทศอย่างสเปน มีอัตราการว่างงานสูงถึง 19% บางประเทศอย่างอิตาลี ก็มีหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงกว่า 100% ค่าเงินยูโรนี้จะเคลื่อนไหวอิงตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ใหญ่กว่าอย่าง เยอรมัน และ ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 และ 5 ของโลกเป็นหลัก นอกจากนี้ค่าเงินยูโรยังถูกซื้อเพื่อนำไปเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อทดแทนเงินดอลลาร์ซึ่งมีความเสี่ยงของการอ่อนค่า แต่แนวโน้มนี้กำลังกลับทิศ

หากเป็นประเทศอย่าง เม็กซิโก ไทย หรืออาร์เจนตินา ก็คือ การปล่อยให้ค่าเงินอ่อนลงอย่างเร็ว และ ดึงสมดุลการค้าให้กลับคืนมา เศรษฐกิจจะตกต่ำไปราว 1-2 ปี จากนั้นก็เริ่มยืนได้และเดินหน้าต่อไป แต่สำหรับประเทศริมขอบยูโรโซนเหล่านี้ ใช้ค่าเงินยูโรอยู่แล้ว จะลดค่าเงินลงมาก็ไม่ได้ จะมีทางออกที่สวยงามสำหรับประเทศเหล่านี้หรือไม่

1. ระยะสั้นๆ ที่ควรแก้ไขด่วนก็คือ นำเศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก มาใช้เร็วที่สุด ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการยืมพลัง แทนที่จะใช้งบประมาณโดยตรง ทำให้สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจ และแก้ไขวิกฤติการคลังไปได้พร้อมๆ กัน ซึ่งต่างกับ กรีซที่ทำในปัจจุบันด้วยการลดการขาดดุลการคลัง ทำให้พนักงานรัฐจำนวนหนึ่งไม่พอใจ อาจก่อให้เกิดสารพัดม็อบขึ้นได้

2. ในระยะ 1 ปีข้างหน้า ประเทศเหล่านี้มีความจำเป็นต้องออกจากระบบ “ยูโร” เพื่อเพิ่มการแข่งขันทางการส่งออก และ ท่องเที่ยว น่าจะมีรวมตัวกันจัดตั้งเงินสกุลใหม่ ผมขอใช้ชื่อ “ยูร่า” (EURA) ก็แล้วกัน เป็นค่าเงินที่จะอ่อนค่ากว่า “ยูโร” ตอนแรกอาจปรับค่าให้ต่ำกว่า ยูโร ราว 10% จากนั้นก็อาจใช้ระบบ crawling peg เพื่อเกาะค่ากับ “ยูโร” แต่ยอมให้อ่อนค่าลงทีละน้อย ประเทศที่แข็งแกร่งทีม A ก็ใช้ “ยูโร” กันไป ส่วนประเทศที่พื้นฐานไม่ค่อยไหวอยู่ทีม B ก็อาจเลือกมาใช้ “ยูร่า” แทน โดยประเทศอังกฤษก็น่าจะสนใจเข้าร่วมในเครือข่ายนี้ด้วยก็เป็นได้ ในที่สุดแล้วยุโรปก็จะมีเงิน 2 สกุลเท่านั้น ซึ่งครอบคลุมขนาดเศรษฐกิจใหญ่ราวๆ 9 ล้านล้านดอลลาร์ พอๆ กัน และ สามารถใช้เป็นเงินตราสำรองระหว่างประเทศได้อย่างดี

ระบบเงินสกุลเดียวที่เคยดูเหมือนจะสดใสในอดีต เมื่อใช้มาย่างเข้าปีที่ 10 เริ่มพบว่ามี “ด้านมืด” แล้ว สำหรับเอเชียก็เช่นกัน ไม่ควรนำแนวคิดเงินสกุลเดียวมาใช้เลย เพราะ พื้นฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และดุลบัญชีเดินสะพัด


ที่มา : http://www.nidambe11.net

คำถาม
1. เงินยูโร เริ่มใช้เมื่อใด
2. วิกฤติเศรษฐกิจของประเทศไม่ใหญ่นัก มักจะมีต้นเหตุหลักมาจากอะไร
3. เพราะเหตุใด จึงไม่ควรนำแนวคิดเงินสกุลเดียวมาใช้

ดัชนีราคา SET50 Index และ SET100 Index

จัดทำบทความโดย นายอัครกฤษ เจริญภักดี
5003100113

เพื่อ ส่งเสริมการออกตราสารอนุพันธ์และเป็นเครื่องมือวัดสภาวะตลาดสำหรับกองทุนรวม ต่างๆ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงจัดทำ ดัชนีราคา SET50 Index และ ดัชนีราคา SET100 เพื่อเป็นดัชนีราคาหุ้นที่ใช้แสดงระดับและความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นสามัญ 50 และ 100 ตัวที่มีมูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalization) สูง การซื้อขายมีสภาพคล่องสูงอย่างสม่ำเสมอ และมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยผ่านเกณฑ์ที่กำหนด การปรับรายการหลักทรัพย์

ตลาดหลักทรัพย์ได้กำหนดให้มีการพิจารณาปรับรายการหลักทรัพย์ที่ใช้ในการ คำนวณ SET50 Index และ SET100 Index ทุกๆ 6 เดือน ทั้งนี้เพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นกับภาวะ การณ์ในตลาดหลักทรัพย์ เช่น กรณีที่มีบริษัทจดทะเบียนเข้าใหม่ หรือกรณีที่มีการเพิ่มทุนของบริษัทจดทะเบียนซึ่งอาจส่งผลให้หุ้นสามัญบางตัว ที่ไม่ได้ถูกคัดเลือกมาก่อนมีคุณสมบัติครบถ้วนขึ้น และสามารถนำมาใช้ในการคำนวณ SET50 Index และ SET100 Index ได้


SET100 Index และ SET50 Index
ประเภทดัชนี Composite Index

เกณฑ์การคำนวณ

* คำนวณแบบถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization Weight)
* ไม่นำหลักทรัพย์ที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP เกิน 1 ปีมารวมในการคำนวณ
* SET50 Index คำนวณโดยใช้หุ้นสามัญจดทะเบียนที่ผ่านการคัดเลือก 50 อันดับแรก
* SET100 Index คำนวณโดยใช้หุ้นสามัญจดทะเบียนที่ผ่านการคัดเลือก 100 อันดับแรก

การปรับฐาน การคำนวณ

* เช่นเดียวกันกับดัชนีราคา SET Index คือ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของหลักทรัพย์ที่ใช้ในการคำนวณ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงจำนวนหุ้นของหลักทรัพย์ที่เป็นผลมาจากเหตุการณ์ ต่างๆ
* เมื่อมีการใช้หลักทรัพย์ รายการใหม่ทุกๆ ครั้ง จะต้องมีการปรับฐานคำนวณเพื่อให้ค่าดัชนีมีความต่อเนื่องอยู่เสมอ ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับที่ใช้สำหรับการคำนวณ SET Index ในปัจจุบัน โดยการปรับฐานดัชนีจะดำเนินการในทำนองเดียวกันกับกรณีที่มีหลักทรัพย์ถูก เพิกถอนและมีหลักทรัพย์เข้าใหม่ตามแต่กรณี

ค่าดัชนีเริ่มต้น
1,000 จุด

วันฐาน
SET 100 คือ 30 เมษายน 2548

SET 50 คือ 16 สิงหาคม 2538


การพิจารณาปรับรายการหลักทรัพย์ทุก 6 เดือน (ในการคำนวณSET50 Index และ SET100 Index)
ระหว่างวันที่ 1-31 ธ.ค.
นำมาใช้คำนวณดัชนีตั้งแต่ วันทำการวันแรกของเดือนมกราคมปีถัดไป
ระหว่างวันที่ 1-30 มิ.ย.
นำมาใช้คำนวณดัชนีตั้งแต่ วันทำการวันแรกของเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน

ที่มา : www.set.or.th

คำถาม
1. เกณฑ์การคำนวณ มีอะไรบ้าง
2. ตลาดหลักทรัพย์ได้กำหนดให้มีการพิจารณาปรับรายการหลักทรัพย์ที่ใช้ในการ คำนวณ SET50 Index และ SET100 Index ทุกๆกี่เดือน
3. วันฐานของ SET 50 คือวันที่เท่าใด

ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index)

จัดทำบทความโดย นาย วิษณุ พันนุรักษ์
4903100224



ดัชนี ราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ( SET Index) เป็นดัชนีที่สะท้อนการเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์ทั้งหมด ( Composite Index)

สูตรการคำนวณดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์ (SET Index)
SET Index =

มูลค่าตลาดรวมวันปัจจุบัน (Current Market Value) x 100
___________________________________________
มูลค่าตลาดรวมวันฐาน (Base Market Value)


ประเภทดัชนี Composite Index
เกณฑ์การคำนวณ

* คำนวณแบบถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization Weight)
* คำนวณโดยใช้หุ้นสามัญจดทะเบียนทุกตัวในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (รวมหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์)
* ไม่นำหลักทรัพย์ที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP เกิน 1 ปีมารวมในการคำนวณ

การปรับฐานการคำนวณ

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของหลักทรัพย์ที่ใช้ในการคำนวณ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงจำนวนหุ้นของหลักทรัพย์ที่เป็นผลมาจากเหตุการณ์ ต่างๆ เช่น การเพิ่มทุนของบริษัท การแปลงสภาพหุ้นกู้เป็นหุ้นสามัญ และใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิเพื่อซื้อหุ้นสามัญของบริษัท

ค่าดัชนีเริ่มต้น 100 จุด

วันฐาน วันที่ 30 เมษายน 2518

ที่มา : www.set.or.th

คำถาม
1. ดัชนี ราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ( SET Index) เป็นดัชนีที่สะท้อนการเคลื่อนไหวของอะไร
2. เกณฑ์การคำนวณ มีอะไรบ้าง
3. ค่าดัชนีเริ่มต้นที่กี่จุด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับจีดีพีใหม่คาดจะขยายตัว 5.5-6.8% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าเติบโต 4-6%

จัดทำบทความโดย นางสาวดุริยาภรณ์ จงอัจฉริยกุล
4903100003


วันนี้ ( 6 ส.ค.) รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยแจ้งว่า ได้ปรับผลิตภัณฑ์มวลรวมรายได้ในประเทศหรือจีดีพีในปี 53 ใหม่ คาดว่าจะขยายตัว 5.5-6.8% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าเติบโต 4-6% และถ้าไม่มีปัจจัยลบทางการเมืองจีดีพีจะขยายตัวประมาณ 6.2-6.8% เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกที่ออกมาดีกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยจีดีพีในไตรมาส 1/53 ขยายตัวถึง 12% และไตรมาส 2/53 ขยายตัว 8% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ แม้ว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ทิศทางเศรษฐกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับปัญหาวิกฤตหนี้ในภูมิภาคยุโรป ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และแรงขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจจีนและประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ คงต้องติดตามสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ ทิศทางเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาการลงทุนในมาบตาพุด

ที่มา : www.dailynews.co.th

คำถาม
1. GDP ในปี 53 ใหม่ คาดว่าจะขยายตัวประมาณกี่ %
2. ถ้าไม่มีปัจจัยลบทางการเมือง GDP จะขยายตัวเท่าไหร่
3. ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือปัจจัยใด